ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ปัญหาวาล์วยัน สำหรับรถใช้แก๊ส ..... !!

ออกตัวให้ทราบกันก่อนนะครับ เนื่องจากผมไม่ได้เป็นช่าง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์นะครับ ดังนั้นบทความที่จะได้อ่านต่อไปนี้ มาจากการความเข้าใจ การสอบถาม และการอ่าน ดังนั้นจึงควรใช้วิจารณญาณในการอ่านนะขอรับ

แต่ดั้งแต่เดิมผมคนนึงละที่เป็นเหมือนแฟนพันธุ์แท้ LPG ซึ่งผมได้รู้จักในครั้งนั้นคือ  TAXI ติดแก๊ส แต่เพราะผมใช้รถค่อนข้างเยอะจึงตัดสินใจติดตั้งแก๊สในรถยนต์ในสมัยที่ LPG ยังไม่ฮิต เหมือนทุกวันนี้ โดยปี 2547 เป็นครั้งแรกของผมก็เอารถที่ผมใช้อยู่ไปติดแก๊สที่อู่ TAXI แห่งหนึ่งแถวๆคลองเตย ในการเติมแก๊สช่วงแรกๆของผมก็ออกอาการเขินๆนะ เพราะต้องไปเติมที่ปั๊มแก๊สที่ TAXI ใช้เติมกันนั่นแหละครับและปั๊มก็ยังมีน้อยมากกกๆๆ จนแทบจะเรียกได้ว่า ผมขับรถส่วนตัวเข้าไปเติมแก๊ส TAXI ก็หันมามองกันเป็นตาเดียวเลยครับ.... แต่ผมก็ ไม่ สน ใจ หรอก เพราะราคาแก๊สมันถูกนี่นา และจากนั้นจนถึงบัดนี้ รถที่ผมใช้งานก็จะจับดมแก๊สซะให้หมดก็มีดังนี้ครับ

คันแรกจะเป็น PEUGEOT 505 GR วางเครื่องใหม่เป็น NISSAN  SR 20 DE  4 สูบ DOHC 16 V. ขนาดความจุ 1998 CC.  160 แรงม้า
ซึ่งผมติดแก๊ส แบบ Fix Mixer  ใช้งานแก๊สก็ไม่ต่ำกว่า 100,000 กิโลเมตร ก็ไม่พบปัญหาอะไรเกี่ยวกับวาล์ว


คันต่อมา คือ TOYOTA CORONA เครื่อง 3S FE  4 สูบ DOHC 16 V.  ขนาดความจุ 1998 CC. 140แรงม้า คันนี้ติดแก๊สระบบ Mixer ใช้งานระบบนี้มาประมาณ 200,000 กม. และ เปลี่ยนมาเป็นระบบหัวฉีด ใช้งานในระบบหัวฉีดอีก 100,000 กว่า กิโลเมตร ก็ไม่พบปัญหาเกี่ยวกับวาล์ว และไม่เคยทำอะไรกะมันด้วย


คันถัดมาก็จะเป็น NISSAN SUNY รุ่น B14 เครื่อง GA16DE 4 สูบ DOHC 16 V. ขนาดความจุ 1598 cc 120 แรงม้า คันนี้ก็ติดระบบ Mixer ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ ระยะทางที่ใช้แก๊สมาแล้ว 150,000 กิโลเมตร ซึ่งแน่นอนก็ไม่เคยทำวาล์วเช่นกัน


และปัจจุบัน NISSAN  ALMERA เครื่อง HR 12 DE  3 สูบ DOHC 12 V  ขนาดความจุ 1,198  cc  79 แรงม้า ปัจจุบันใช้แก๊สมาประมาณ 70,000 กิโลเมตร ตั้งวาล์ว 1 ครั้ง

จากที่กล่าวมาข้างต้น รถ 3 คันแรกไม่เคยตั้งวาล์ว หรือทำอะไรเกี่ยวกับวาล์วเลยครับแถมผมไม่รู้อีกต่างหากว่ารถที่ใช้แก๊ส แล้วจะเกิดปัญหา วาล์วยัน เพราะมันไม่มีอาการผิดปกติให้ผมรู้สึกนี่นา จนกระทั่งผมเปลี่ยนมาให้ NISSAN ALMERA นี่แหละผมก็เลยได้มีโอกาสสัมผัสกับความรู้สึกว่า “วาล์วยัน” เป็นอย่างไร

อาการ วาล์วยัน ที่แสดงในรถของผมก็คือ
1. รถอืดขึ้นขาดความปรี๊ดปร๊าด โดยเฉพาะการออกตัวบนทางชันเช่นเนินสะพานเป็นต้น
2. ความเร็วปลายหดหาย  โดยล่าสุด ก่อนที่ผมจะเอารถไปวาล์ว ความเร็วตั้งแต่ 80 ขึ้นไปนี่เหนื่อยครับ
3. ใช้รอบเครื่องสูงผิดปกติ ความเร็วคงที่ 80 – 90 กม/ชม. ตอนมีปัญหาอยู่ที่ 2,500 รอบ
4. เมื่อระบบ Idling stop ทำงานพอปล่อยเบรคเครื่องจะต้องติด แต่.....เครื่องกลับดับลงไปเองดื้อๆ
5. เหยียบคันเร่งแล้วรถไม่วิ่งหรือวิ่งไม่ออก เช่น ผมจอดรถซื้อของริมฟุตบาท เมื่อทำธุระเสร็จ แล้วต้องการจะออก สตาร์ทรถ > หักพวงมาลัย เพื่อหลบรถที่จอกขวางคันหน้า อาการที่จะแสดง ออกมาให้เห็นคือ เหยียบคันเร่งแล้วรถไม่ออกตัว (เกียร์อยู่ D) หรือออกตัวแบบไม่มีแรียวไม่มีแรง ต้องถอนคันเร่งแล้วเหยียบซ้ำลงไปใหม่ แต่อาการแบบนี้ไม่ได้เป็นทุกครั้งนะครับ

เมื่อนับอาการผิดปกติได้ 5 ข้อแล้ว ก็เวลาที่ต้องตรวจเช็คแล้วนะครับ แต่บางครั้งมันก็ไม่ง่ายขนาดนั้นนะครับ เพราะอาการดังกล่าวจะค่อยๆเป็นแบบ ค่อยเป็น ค่อยไป ดังนั้น สาเหตุนึงที่อาจจะทำให้จับอาการดังกล่าวได้ยากก็เพราะ เกิดความคุ้นชิน ในการใช้รถนั่นเองครับ

ก่อนที่จะไปถึงสาเหตุของวาล์วยันเราควรมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ระบบของการทำงานของเครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะกันก่อนนะครับ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะได้เรียนตอน ม.ต้น  ถ้าพูดถึง  ดูด - อัด - ระเบิด - คาย  ยังคุ้นๆกันอยู่ไม๊ครับ ถ้าจำไม่ได้เรามาเริ่มทบทวนพร้อมๆกันไปเลยนะครับ ^^

➤ดูด จังหวะดูดนั้นเริ่มต้นจากลูกสูบอยู่ด้านบนเคลื่อนที่ลงมาสู่ด้านล่าง
เพื่อดูดส่วนผสมไอดี(เชื้อเพลงและอากาศ) ซึ่งอากาศนี้จะเป็นอากาศจากภายนอก ที่ถูกดูดผ่าน กรองกาศ > ลิ้นปีกผีเสื้อ > เข้ามาในกระบอกสูบโดยดูดผ่านทาง วาล์วไอดี  ซึ่งวาล์วไอดีจะปิดเมื่อสิ้นสุดจังหวะดูด โดยที่การเคลื่อนที่ของลูกสูบจะขึ้นอยู่กับเพลาข้อเหวี่ยง  ดังนั้นเราจึงควรจะเช็คกรองอากาศบ่อยๆนะครับ เพราะในขบวนการนี้ หากกรองอากาศสกปรก ฝุ่น ผง อาจเล็ดลอดผ่านกรองอากาศเข้าไปได้แล้วจะไม่ดีต่อสุขภาพของเครื่องยนต์นะครับ

➤อัด เป็นจังหวะเมื่อวาล์วไอดีปิดเรียบร้อยแล้ว ลูกสูบก็จะเคลื่อนที่จากล่างขึ้นบน
เพื่ออัดส่วนผสมไอดีที่ถูกดูดเข้ามาทั้งหมด การถูกอัดตัวทำให้แรงดันในกระบอกสูบสูงขึ้น สำหรับอัลเมร่า อัตราส่วน กำลังอัด 10.2 ต่อ1 ก็หมายความว่า ลูกสูบลูกหนึ่งสามารถดูดอากาศเข้าไปได้ 10.2 ลิตรลูกสูบก็จะต้องอัดอากาศ 10.2 ลิตรให้เหลือเพียง 1 ลิตร

➤ระเบิด ในจังหวะนี้จะต่อเนื่องกับจังหวะที่อัด นั่นคือ ในตำแหน่งที่ลูกสูบขึ้นไปสูงสุดนั้นจะมีการเผาไหม้เกิดขึ้น ซึ่งหัวเทียนจะเป็นตัวทำให้เกิดประกายไฟ เพื่อไปจุดส่วนผสมระหว่างเชื้อเพลงกับอากาศทำให้เกิดการเผาไหม้  และในจังหวะระเบิดนี้เองที่ส่งกำลังออกมาให้ใช้งานกันและลูกสูบก็จะเคลื่อนที่ลงมาสู่ด้านล่าง และวาล์วไอเสียก็จะเริ่มเปิด


➤คาย เป็นจังหวะการทำงานต่อจากจังหวะระเบิด เมื่อลูกสูบได้รับแรงกระแทกมาจากการเผาไหม้ ลูกสูบก็จะเคลื่อนที่ลงมาสู่ด้านล่าง พร้อมกับเปิดวาล์วไอเสีย  แล้วลูกสูบก็จะเคลื่อนที่ขึ้นสู่ด้านบนพร้อมกับจัดการกวาดเอาไอเสียออกไป (ผ่านทางท่อไอเสีย) และเมื่อลูกสูบขึ้นไปจนสุด วาล์วไอเสียก็จะปิด วาล์วไอดีก็จะเริ่มเปิดเพื่อเข้าสู่การดูดอีกครั้ง และจะวนอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ
ที่กล่าวมาข้างต้น คือ 1 Cycle โดยรอบจะหมุนเร็วแค่ไหนนั้นจะขึ้นอยู่กับคันเร่งที่เราเหยียบโดยจะแสดงให้เห็นตรงมาตรวัดรอบของเครื่องยนต์ ซึ่งในขบวนการทำงานในแต่ละรอบของการทำงาน จะทำให้เกิดพลังงานมหาศาล และจะทำให้เกิดความร้อน ประมาณ 600 – 900 องศาเซลเซียสด้วยครับ



อ่านมาซะยืดยาว แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ วาล์วยัน ล่ะ

เนื่องจากผมได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบบเชื้อเพลงเดิมจาก น้ำมัน เป็น แก๊สLPG  แต่การออกแบบของเครื่องยนต์ นั้นไม่ได้ทำมาเพื่อรองรับ แก๊สLPG  ประกอบกับในน้ำมัน มีสารเคลือบบ่าวาล์ว อยู่ด้วย ดังนั้นในทุกๆรอบของการทำงานในจังหวะจุดระเบิด สารเคลือบบ่าวาล์ว ในน้ำมัน จะไปเป็นฟิล์มบางๆเคลือบที่บ่าวาล์ว เพื่อช่วยปกป้องวาล์ว แต่ในเมื่อ แก๊ส LPG ไม่สามารถที่จะผสมสารตัวนี้ลงไปได้ เลยทำให้รถที่ใช้ LPG เกิดอาการนี้เร็วกว่าปกติครับ

และสาเหตุอีกประการนึงคือ ถ้าสังเกตุดีๆ  ในขบวนการข้างต้น จังหวะดูด จะเกี่ยวข้องกับ วาล์วฝั่งไอดี  และจังหวะคาย จะเกี่ยวข้องกับวาล์วฝั่งไอเสีย ซึ่งต้องรับบทหนัก เพราะฝั่งวาล์วฝั่งไอเสีย จะมีอุณภูมิที่สูงมาก และถ้าหากรถคันนั้นใช้แก๊สเป็นพลังงานด้วยแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาเร็วกว่าน้ำมัน อย่างที่เราๆเคยได้เรียนวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ประถม เมื่อมีการเผาไหม้ สิ่งที่จะตามมาคือ ความร้อน เขม่า และก๊าช ซึ่งไอ้เจ้าเขม่า นี่แหละตัวแสบของวาล์วเลยล่ะครับ เพราะวาล์วไอเสียจะมีหน้าที่พาเขม่าที่เหลือจากการเผาไหม้ ออกไปจากห้องเผาไหม้ แต่มันก็มีบางส่วนที่หน้าด้านที่มันไม่ยอมออกไปมันก็จะไปเกาะ ไปจับ ตามชิ้นส่วนต่างๆในห้องเผาไหม้ รวมทั้ง วาล์ว โดยเมื่อวาล์วเปิดไม่สุด หรือน้อยกว่าระยะที่ควรจะเป็นจึงเกิดอาการ วาล์วยัน แต่ถ้า วาล์วปิด แต่ปิดไม่สนิท นั่นคือ วาล์วรั่ว ซึ่งทั้ง 2 แบบ จะทำให้เครื่องยนต์สูญเสีย กำลังอัดในกระบอกสูบ ทำให้รถยนต์ สตาร์ทตอนเครื่องเย็นยาก ไม่มีกำลัง เดินไม่นิ่ง ครับ



หลายๆคนอาจจะสงสัยเหมือนผมว่า.... แล้วทำไมรถคันอื่นของผมที่เป็น 4  สูบที่กล่าวมาในตอนแรกไม่เห็นต้องตั้งวาล์ว....
ตอนนี้ผมพอจะได้คำตอบแล้วครับ..... เนื่องจากรถที่มี 4 สูบจะออกอาการช้ากว่ารถ 3 สูบมากครับเพราะ.... รถที่มี 4 ลูกสูบนั้น ถ้ากำลังอัดตกหายไป 1 สูบ อีก 3 สูบก็ยังทำงานพอที่จะพารถให้วิ่งไปได้เกือบเนียนๆ แต่พละกำลังไม่เต็ม 100% แค่นั้นเอง (เหมือนกับเครื่องของอัลเมร่าที่มี 3 ลูกสูบนั่นแหละ)  ดังนั้นการเช็คระยะห่างของวาล์ว เป็นประจำตามระยะ จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดเพื่อที่จะเช็คสุขภาพของวาล์ว มิเช่นนั้นหากปล่อยปะละเลย ไม่สนใจใยดี แทนที่วาล์วจะยันอย่างเดียว ดันเกิดอาการ วาล์วคด ทีนี้ล่ะครับเรื่องใหญ่แน่ๆ

เมื่อรู้ถึงปัญหาแล้วเรามีวิธีป้องกันรึเปล่า
สำหรับรถที่ติดแก๊ส ต้องทำใจครับว่าซักวันหนึ่งมันต้องมาเยี่ยมเราแน่นอน แต่กว่าจะถึงเวลานั้น แก๊สก็ช่วยให้เราประหยัดค่าน้ำมันไปได้มาโข ดังนั้นอย่าไปเครียดในการหาวิธีป้องกันเลยครับ  ขนาดกระบอกออโต้ลูบ ที่ร้านแก๊สบอกว่าช่วยเลี้ยงวาล์ว ก็ไม่สามารถที่จะช่วยได้จริงครับ



ดังนั้นวิธีที่จะช่วยยืดอายุของวาล์วให้ยืนยาวมีวิธีง่ายๆดังนี้ครับ

จูนแก๊สในปริมาณที่เหมาะสมไม่บางจนเกินไป เพราะการจูนแก๊สที่บางจนเกินไปจะได้แค่ความประหยัดแก๊ส แต่อุณหภูมิในห้องเผาไหม้จะสูงขึ้นกว่าปกติมาก แต่ถ้าจูนแก๊สหนาเกินไป รถจะอืด เปลืองแก๊ส

ดูแลรักษาความสะอาดของ กรองอากาศ


ถ่ายน้ำมันเครื่องให้ตรงเวลา และเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพดีๆ

หลีกเลี่ยงการขับรถโดยใช้รอบเครื่องสูงๆเป็นเวลานาน
ในระหว่างเดินทางสลับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันบ้างเพื่อให้น้ำมันได้ไปเคลือบบ่าวาล์วบ้าง


สุดท้าย....... ไม่ว่าจะใช้คุณน้ำมัน หรือ พลังงานทางเลือก LPG , NGV ถ้าไม่ใส่ใจในการดูแลรักษาเครื่องยนต์ ไม่รู้จักหมั่นสังเกตุอาการผิดปรกติของรถที่ใช้ จากปัญหาเพียงเล็กน้อย อาจจะลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้นะครับ อย่างที่คำโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “เสียน้อย เสียยาก เสียมาก เสียง่าย”

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บางทีแอร์ก็ไม่เย็น ลองเช็คหน้าครัชคอมแอร์กันก่อนไม๊

ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณ วิลลิส แคริเออร์ นักประดิษฐ์ชาวอเมริกา ผู้เป็นบิดาแห่งเครื่องปรับอากาศสมัยใหม่ เพราะอย่างที่เรารู้ๆกันอยู่ครับว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ถ้า...... รถไม่มีแอร์ คงทรมานไม่น้อยเลยแน่ๆตอนรถติด แล้วถ้าแอร์รถเราเย็นมั่ง ไม่เย็นมั่งล่ะ ...... มันเกิดจากอะไรได้บ้าง โอ๊ยยยยย  ...... สาเหตุเยอะแยะ เช่น เทอร์โมสตัส มีปัญหาไม๊ ระบบไฟมีปัญหารึป่าว  ระบบระบายความร้อนยังดีอยู่ไม๊  ฯลฯ  แต่สำหรับปัญหาที่ผมเจอเกี่ยวกับแอร์ที่จะเอามาบอกกันครั้งนี้คือ อยู่ๆแอร์ก็ไม่เย็นเอาซะดื้อๆ พอดับเครื่องสตาร์ทใหม่ เปิดแอร์ >>> แอร์ก็กลับมาเย็นตามปกติ แล้วก็ปกติแบบนี้ไปอีกหลายวัน จนเมื่อ.... อาการแบบเดิมกลับมาอีก >> จอดรถ เปิดกระโปรงหน้า อันดับแรกที่ดู พัดลมไฟฟ้ายังทำงานปกติ แต่คอมเพรสเซอร์แอร์ ..... ไม่ทำงาน !! >>> กดปิด AC พัดไฟฟ้าก็หยุด พอกดเปิด AC พัดลมก็กลับมาทำงานเหมือนเดิม แต่คอมแอร์ก็ยังไม่ทำงาน   ....... งั้นรู้แล้วล่ะว่าที่อยู่ๆแอร์ไม่เย็นเพราะ คอมเพรสเซอร์แอร์ ไม่ยอมทำงาน (รู้ได้จากหน้าครัชแอร์ไม่หมุน)  ที่นี้ปัญหาที่ทำให้หน้าครัชแอร์ไม่หมุนมีหลายอย่างเล

เมื่อโซลินอย ที่วาล์วถังแก๊สเสีย

โซลินอย ที่ถังแก๊สเสีย โซลินอยที่ถังแก๊ส มีหน้าที่ เปิด และ ปิด แก๊สที่อยู่ในถัง ตราบใดที่เราใช้แก๊สเป็นพลังงานอยู่ โซลินอย ตัวนี้ก็จะทำงานตลอดเวลา เพื่อเปิดวาล์วให้แก๊สไหลจากถังท้ายรถ วิ่งไปหาหม้อต้มที่อยู่หน้ารถ ดังนั้นถ้าโซลินอยตัวนี้ไม่ทำงานก็ไม่สามารถใช้แก๊สได้ การสังเกตง่ายๆโดยถ้าโซลินอยตัวนี้ทำงานจะได้ยินเสียงขอวาล์วที่ถังเปิด ดัง  ...... ติ๊ก 1 ครั้ง และตัวมันเองจะต้องอุ่นๆ เพราะข้างในมันคือขดลวดนั่นเองครับ อาการที่ผมเจอคือ ตอนที่ระบบจะเปลี่ยนจากน้ำมันเป็นแก๊ส มันจะไม่ยอมเปลี่ยนครับเพราะระบบมันตรวจสอบแล้วไม่มีแรงดันของแก๊สในระบบ จะมีเสียงเตือน “ตี๊ดๆๆๆ”  ครับ ลองดูคลิปจากรถผมครับ ตอนแรกคิดว่าแก๊สหมดนะครับ เลยไปเติมแก๊สมาซะเต็มถังเลยล่ะ ซึ่งพอแก๊สยังใช้ไม่ได้ เลยต้อมเริ่มหาที่มาก่อนเลยครับ ซึ่งเจ้าโซลินอยตัวนี้แหละน่าจะเป็นจำเลยของงานนี้ เพราะมันไม่เสียงตอบรับอะไรเลยครับ เงียบกริบ เลยล่ะ เช็คไฟที่สาย ไฟก็มานะครับ แต่พอช่วงมันเตือน ตี๊ดๆๆๆ  ไฟก็ตัดไป  สำหรับโซลินอยตัวนี้ต้องหาตรงรุ่นของมันด้วยครับ ผมไปได้จากตัวแทนจำหน่ายแถวโชคชัยสี่ ราคาตัวละ 250 บาท

เพิ่มพัดลมไฟฟ้าเป่าแผงแอร์

เนื่องจากพัดลมติดรถของผมมีตัวเดียว ซึ่งเป็นขนาด 15 นิ้ว 7 ใบพัด ซึ่งก็เพียงพอต่อการใช้งานอยู่แล้วล่ะ แต่อยากจะเพิ่มไงครับ ก็เลยต้องหาวิธีทำซะหน่อย เริ่มจากหาซื้อพัดลมก่อนเลยเป็นอันดับแรก โดยพัดลมหม้อน้ำจะมี 2 แบบคือ แบบดูด กับ แบบเป่า  พัดลมทั้งสองแบบนี้ต่างกันนะครับ ถ้าเราหันหน้าเข้าหารถ แล้วมองเห็นพัดลม ก่อนหม้อน้ำ นั่นคือพัดลมแบบเป่า  แต่ถ้ามองเห็นหม้อน้ำ พัดลมอยู่หลังหม้อน้ำ ตัวนั้นคือพัดลมแบบดูด ...... เป็นอันเข้าใจนะครับ สิ่งที่ต้องการคือ พัดลมแบบ เป่า ซึ่งในตลาดมีมากมายหลายยี่ห้อ ทั้งของใหม่ และของมือสองตามเซียงกง มีให้เลือกกันเพียบ จะเอากี่ใบ ขนาดกว้างที่นิ้ว ก็เลือกเอาเลยครับ ผมเลือกขนาด 12 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์การทำ ก็มี เหล็กรู 4 อัน , รีเรย์ 1 ตัว , ขั้วรีเรย์ 1 อัน , ฟิวส์เสียบ 15A + กล่องฟิวส์ , สายไฟเส้นโตๆ หน่อย ยาวซัก 3 เมตร นอกนั้นก็มี น๊อต , หางปลา , ท่อร้อยสายไฟ เมื่อของพร้อม กายพร้อม ก็ลงมือกันเร้ยยย เริ่มจากถอดกันชนหน้าลงมาเลยครับ แต่ ไหนๆก็ถอดแล้ว ถ้ามีเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงก็ฉีดล้างแผงคอนเดนเซอร์ (แผงแอร์) ไปเลยครับ ฉีดมันน้ำเปล่าๆนั่นแหละ  นี่ก่อนล้า